Categories
นวดไทย & สปา

รายได้งานนวด & สปาในไทย

ทำงาน ให้ได้งาน

รายได้งานนวด & สปา ของพนักงานนวด เทอราปิส บทความนี้จะขออนุญาตแบ่งปันข้อมูลรายได้โดยทั่วไปของพนักงานนวด หรือสปาเทอราปิส ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ การทำงานใด ๆ ย่อมหวังผลในรายได้เป็นเหตุผลแรก ๆ หรืออาจจะทำเพราะใจรัก “ทุกคนต้องได้งาน” คำพูดประโยคหนึ่ง ที่ผมพร่ำพูดพร่ำเขียนอยู่เสมอ สิ่งที่ผมจะสื่อคือ ความมุ่งหวังให้คนที่กำลังหางานอยู่จะได้งานทำ งานที่ดีสุจริต มีรายได้เลี้ยงตนและครอบครัว และในอีกหนึ่งความหมายคือ ทำงานต้องได้งาน การทำงานใด ๆ ต้องตั้งใจในรายละเอียดของงาน คุณภาพและเวลาที่ใช้นวดต้องสัมพันธ์กัน ในส่วนของงานนวดนั้น จะมีเวลาเป็นกรอบในการทำงาน ฉะนั้นการกด การสัมผัส ในแต่ละส่วนของร่างกาย ต้องนวดให้ตรงจุด และมีคุณภาพในทุกครั้ง บรรลุวัตถุประสงค์ และสร้างความคุ้มค่าให้กับผู้ถูกนวด จึงเป็นประโยคที่ผมมักจะพูดบ่อย ๆ เวลาฝึกอบรม คือ ต้องนวดให้ได้งาน

โครงสร้างรายได้

งานนวดและสปาเทอราปิส มีโครงสร้างรายได้ที่หลากหลายมาก ขึ้นอยู่กับราคาค่าบริการ ระดับ หรือ ประเภทของร้านนวดร้านสปา ความหนาแน่นของลูกค้า สวัสดิการ หน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงาน ตำแหน่ง สัญญาจ้าง นโยบายของสถานประกอบการ อาจเป็นโครงสร้างที่มีเงินเดือน หรือ คอมมิสชั่น ผสมผสานกัน ผู้เขียนขออธิบายโครงสร้างหลัก ๆ ที่นิยมกันในตลาด ที่มักใช้กันในปัจจุบันของรายได้ในร้านนวดและสปาในประเทศไทย 

โครงสร้าง 50 – 50 

โครงสร้างนี้ จะแบ่งค่ามือ หรือ ค่าจ้าง แบบหารสอง จากราคาขาย เช่น ราคาขายหน้าร้าน 200 บาท ทางร้านจะแบ่งให้พนักงาน 100 บาท ทางร้านเก็บ 100 บาท คนละครึ่ง หากทางร้านใช้โครงสร้างประเภทนี้ ในทุก ๆ เมนู ก็จะคำนวนรายได้ที่ง่ายต่อพนักงาน นิยมใช้กับร้านนวดขนาดเล็ก ที่ราคาการให้บริการไม่สูงมาก ตามเมืองท่องเที่ยว หรือ หัวเมืองใหญ่ เช่น พัทยา กรุงเทพมหานคร โดยราคาการให้บริการมักเริ่มที่ชั่วโมงละ 120 – 250 บาทต่อชั่วโมง โดยกลุ่มลูกค้าจะเน้นไปทางกลุ่มนักท่องเที่ยว Back pack นักท่องเที่ยวราคาประหยัด คนไทยกลุ่มที่มีรายได้ประมาณ 10k – 20k ต่อเดือน กลุ่มตลาดนี้ ผู้รับบริการอาจจะได้ประโยชน์จากราคานวดที่ไม่สูง แต่อย่าคาดหวังในเรื่องของคุณภาพของผลิตภัณฑ์และการให้บริการของพนักงาน ซึ่งมีทั้งร้านที่ดีเยี่ยมจนน่าตกใจ และร้านที่แย่จนไม่อยากกลับไปใช้อีก(เดี๋ยวเค้าก็หายไปเอง)

โครงสร้างแบบตายตัว

ในโครงสร้างแบบนี้ มักจะกำหนดเป็นเรทตายตัว เช่น แบบส่วนแบ่งเปอร์เซ็นจากราคาขาย ตั้งแต่ 30% ถึง 70% ขึ้นอยู่กับรูปแบบธุรกิจ เช่น Day SPA อาจมีส่วนแบ่ง 30% ให้กับพนักงานประจำ ส่วนการนวด Delivery ที่มี Platform เป็นตัวกลางอาจให้สูงถึง 70% เนื่องจากไม่มีต้นทุนเรื่องสถานที่และองค์ประกอบอื่น หรือการกำหนดแบบตายตัว ให้เหมาะสมตามต้นทุนและความยากง่ายในการให้บริการ เช่น นวดไทยอาจได้ 30% แต่นวดอโรม่า อาจได้ 40% หรือกำหนดเป็นตัวเงินแบบตายตัวไปเลย ตัวอย่างเช่น นวดไทยให้ชั่วโมงละ 150 บาท นวดอโรมาให้ชั่วโมงละ 200 แต่ยังมีผู้ประกอบการประเภทที่ให้คอมมิสชั่นทุกประเภทเท่ากันหมดก็มี เช่น ทุกชั่วโมง 160 บาท 

ทั้งนี้ผู้ประกอบการ ต้องคำนวณและควบคุมต้นทุนให้แม่นยำ การตั้งราคาให้เหมาะสมกับสถานที่และการบริการ พนักงานกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่สามารถนำมาตรฐานการให้บริการและฝีมือมาเป็นตัวควบคุม เป็นตัวชี้วัด เพื่อประเมินตัวพนักงานได้ เนื่องจากรายได้ส่วนแบ่งที่สูงขึ้น กลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น ความคาดหวังในการให้บริการของลูกค้าจึงมีสูงขึ้นตามราคาที่จ่ายไป หากมีการให้บริการที่ไม่ดี ลูกค้าอาจไม่พอใจและเกิดปัญหาตามมามากมาย อย่างเช่นการขอเงินคืนจากการให้บริการที่ไม่ดี แต่หากบริการได้ดีมักมีการจ่ายทิปเพิ่ม โดยมากมักเป็นโครงสร้างที่ Day SPA และร้านนวด ที่มีค่าบริการสูงกว่าร้านนวดทั่วไปใช้ ราคานวดมักเริ่มต้นที่ ชั่วโมงละ 350 – 750 บาทต่อชั่วโมง

โครงสร้างแบบตายตัวระบบขั้นบันได

จากโครงสร้างของรายได้ที่ตายตัว ยังมีการสร้างจูงใจให้พนักงานรับงานให้มากขึ้น และสร้างการบริการที่ดีให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการอีกเพื่อสร้างความมั่นคง มีรายได้มากขึ้น นั้นคือ ระบบทวีคูณแบบขั้นบันได โดยแนวคิดคือ ยิ่งทำชั่วโมงได้มาก ค่าตอบแทนต่อชั่วโมงจะสูงขึ้นตาม โดยหลักคิดแบบขั้นบันได แบ่งออกเป็นสองวิธี คือ

แบบ A การคูณรวมทุกชั่วโมง โดยนำชั่วโมงงานทั้งหมด มาคูณตามเรทที่ตั้งไว้ 

ตัวอย่าง

ชั่วโมงทำงานที่ เรทค่าชั่วโมง(บาท)
1 – 99 120
100 – 119 130
120 – 139 140
140 ขึ้นไป 150

หากพนักงาน ทำงานได้ 121 ชั่วโมง จะนำจำนวนชั่วโมงงานทั้งหมด มาคูณตามเรท คือ 119 x 130 =15,470 บาท

หากพนักงาน ทำงานได้ 140 ชั่วโมง จะนำจำนวนชั่วโมงงานทั้งหมด มาคูณตามเรท คือ 140 x 150 =21,000 บาท

จะเห็นได้ว่า ยิ่งทำมาก ยิ่งได้มากขึ้น 

แบบ B การเพิ่มเงินพิเศษให้ เมื่อเกินชั่วโมงงานที่กำหนด 

หลักการไม่ได้ต่างจากวิธีแรกมาก เพียงแต่การคำนวณ จะเป็นการเพิ่มเงินเข้าไปในส่วนชั่วโมงที่เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เช่น 

ชั่วโมงที่ 1 – 99 ได้ 150 บาทต่อชั่วโมง เกินกว่านี้ เพิ่มให้อีกชั่วโมงละ 30 บาท หากพนักงานทำงานได้ 120 ชั่วโมง จะสามารถคำนวณได้ดังนี้

เรทแรก 99 x 150 = 14,850
เรทสอง 21 x 180 = 3,780
สรุปรายได้จึงเท่ากับ 14,850 + 3,780 = 18,630 บาท

ผู้ประกอบการที่เลือกใช้วิธีนี้ มักต้องการสร้างแรงจูงใจให้พนักงาน ในการทำงานให้ถึงเรทที่กำหนด เพื่อให้บรรลุยอดขาย พนักงานได้เยอะ สถานประกอบการก็ได้เยอะเช่นกัน

โครงสร้างแบบ เงินเดือน บวก คอมมิสชั่น

เงินเดือนจะสร้างความมั่นคงให้กับพนักงานมากขึ้น ซึ่งโครงสร้างดังกล่าวมักจะเป็นการจ้างงานของพนักงานประจำ โดยปกติฐานเงินเดือนพนักงานนวดจะมีเริ่มตั้งแต่ 9,000 บาท จนถึง 20,000 บาท ขึ้นอยู่กับ โครงสร้างคอมมิสชั่น อายุการทำงานของพนักงาน กระบอกเงินเดือนของตำแหน่งนั้น ๆ แม้กระทั้งความรู้ความสามารถ ใบอนุญาตต่าง ๆ ก็สามารถนำมาเป็นตัวพิจารณาฐานเงินเดือนได้ โดยมากตำแหน่งพนักงานนวดมักจะเริ่มที่ราคาไม่สูง แต่จะมีรายได้แปรผันมาจากจำนวนชั่วโมงการทำงาน เช่น โครงสร้างที่มีฐานเงินเดือน 10,000 บาท ค่าคอมมิสชั่นแบบตายตัว ชั่วโมงละ 100 บาท ค่าเฉลี่ยของการทำงานต่อเดือน อยู่ระหว่าง 100 – 140 ชั่วโมงต่อเดือน เฉลี่ย 120 ชั่วโมงต่อเดือน สูตรการคำนวณคือ 

เงินเดือน+ค่าคอม+รายได้อื่น = 10,000+100(120)+รายได้อื่น = 22,000+รายได้อื่น

ยังมีรายได้อื่นเป็นตัวเลขเพิ่มเติมอีก ซึ่งจะขอพูดในช่วงท้ายของบทความ สถานประกอบการที่ใช้โครงสร้างนี้มักจะเป็น Day SPA ที่มีชื่อเสียง เป็นเอกลักษณ์เฉพาะทาง เวลเนส และสปาที่เน้นการเสริมความงาม โดยราคาการให้บริการมักจะเริ่มต้นที่ค่อนข้างสูง โดยมากมักเริ่มต้นที่ 500 – 950 บาทต่อชั่วโมง

โครงสร้างแบบ เงินเดือน บวก คอมมิสชั่น และมี Service Charge

โดยมาก Hotel SPA หรือ Day SPA / Destination SPA / Wellness ระดับ High end มักจะใช้กัน โดยกลุ่มสถานประกอบการนี้จะมีค่าบริการที่สูง หากเราสังเกตที่ราคาที่แสดง จะมีเครื่องหมาย ++ ต่อท้าย เช่น ค่าบริการ 1,000++ หมายถึง คุณจะต้องชำระค่าบริการจริงที่ 

ค่าบริการ + เซอร์วิสชาร์จ + ภาษีมูลค่าเพิ่ม
Service Fee + Service Charge + VAT

โดยปกติ ดังนั้น จากสูตร 1,000++ จะทำการคำนวณด้วยการนำ 1,000 + Service Charge 10% (โดยทั่วไปจะคิดกันที่ 10%) จึงเท่ากับ 1,100 บาท เมื่อนำมาบวก Vat ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 7% จะได้ค่าบริการที่ต้องชำระสุทธิที่ 1,177 บาท

ข้อดีของการมี Service Charge คือ พนักงานจะมีรายได้เพิ่มมาอีก 10% ที่จะนำมาแบ่งกันเป็นรายได้เพิ่มเติมจากเงินเดือนและค่าคอมมิสชั่น ความร่วมมือในการบริการของพนักงานจะมีความสามัคคีมากกว่าปกติ การให้บริการลูกค้าให้ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้จึงเกิดขึ้น แต่สิ่งนี้ก็เป็นเสมือนดาบสองคม ผู้ใช้บริการที่ต้องจ่ายแพงกว่าราคาปกติ การได้มาซึ่งงานบริการที่ดีไม่หวงของ และความพร้อมในการให้บริการ จึงควรเป็นสิ่งที่ผู้รับบริการควรได้รับ หากมีบริการอื่นที่เท่าเทียมกัน แต่ไม่ต้องเสีย Service Charge ก็อาจจะโน้มน้าวให้เปลี่ยนใจไปใช้บริการที่อื่นได้ หรือหากการบริการไม่เป็นที่พึงพอใจ ก็มักจะเกิดการร้องเรียนได้ง่าย

สปาในโรงแรมของประเทศไทยส่วนใหญ่ จะใช้ระบบโครงสร้างนี้ โดยราคาขายมักจะเริ่มต้นที่ 1,000++ ถึง 1,200++ บาทต่อชั่วโมง โดยลูกค้าหลัก ก็จะเป็นลูกค้าที่พักในโรงแรม ลูกค้าที่มาจากข้างนอกโรงแรมมีจำนวนไม่มาก ฐานเงินเดือนของพนักงานมักจะไม่สูงมาก ค่าคอมมิสชั่นมักจะคิดให้เป็นเปอร์เซ็นต์ แต่เนื่องจากราคาขายที่สูง ตัวเลขค่าคอมมิสชั่นจึงไม่สูงมาก มักอยู่ระหว่าง 3 – 5% โดยประมาณ แต่ไฮไลท์ของรายได้จะอยู่ที่ Service Charge ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับจำนวนนักท่องเที่ยว ฤดูกาลการท่องเที่ยว ตั้งแต่ไม่กี่พัน จนถึงหลักหมื่นต่อเดือน เคยมีข่าวว่าโรงแรมห้าดาวแห่งหนึ่งทางภาคใต้ เคยได้เซอร์วิสชาร์จกันสูงถึง 40,000 – 60,000 บาท ในบางเดือนเลยก็มี

การคำนวณรายได้ คือ 

Salary + Commission + Service Charge + รายได้อื่น ๆ
สมมุติว่าได้รับ Service Charge ในเดือนนั้น 15,000 บาท
จะคำนวณได้เป็น 9,000 + 3,000 + 15,000 + รายได้อื่น ๆ = 27,000 + รายได้อื่น ๆ

การประกันรายได้ ประกันมือ 

หากทางร้านนวด ร้านสปา ไม่ได้ใช้โครงสร้างรายได้แบบเงินเดือน ก็จะใช้แบบส่วนแบ่ง ซึ่งแล้วแต่การออกแบบว่าจะเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ ในกรณีที่บางร้านมีส่วนแบ่งรายได้ที่สูงกว่า เพื่อดึงดูดพนักงาน อาจไม่สามารถดึงดูดพนักงานไปทำงานด้วยเสมอไป พนักงานที่เลือกที่ทำงานแบบแบ่งรายได้ มักจะพิจารณาปริมาณความถี่ของงาน หรือจำนวนลูกค้าที่มากกว่า หรืองานที่เยอะกว่า การเปรียบเทียบที่ทำงานระหว่างร้านใด ที่มีค่าตอบแทนเท่ากันหรือน้อยกว่าอีกร้านไม่มาก แต่ได้ชั่วโมงงานเยอะกว่า ก็ย่อมมีโอกาสสร้างรายได้ที่มากกว่าจากส่วนแบ่งและรายได้อื่น ๆ ที่มีให้ลุ้นมากกว่านั่นเอง พนักงานออาจเลือกร้านที่งานเยอะกว่าแต่ค่าคอมน้อย มากกว่าที่จะเลือกร้านงานน้อยค่าคอมสูง (ในกรณีสองร้านค่าคอมหากกันไม่มาก)

ด้วยจำนวนหมอนวดหรือเทอราปิสที่มีไม่มาก ผู้ประกอบการที่ไม่ได้ใช้ระบบเงินเดือน จึงต้องหาวิธีมาช่วยเหลือ และสร้างความมั่นคง ความมั่นใจให้กับพนักงานเทอราปิส ด้วยการการันตรีรายได้รายวัน หรือ รายเดือน หรือที่เรียกว่า ประกันมือ ซึ่งหมายถึง ร้านที่จ่ายค่ามือแบบส่วนแบ่ง จะมีรายได้ประกันมือจำนวนหนึ่งตั้งไว้ หากพนักงานมาทำงานในช่วงเวลาที่กำหนด จะได้ทำงานหรือไม่ก็ตาม ก็จะมีรายได้ตามที่แจ้งไว้แน่นอน แต่หากได้ทำงานเยอะจนส่วนแบ่งเกินกว่าประกันมือ ก็จะได้รับตามจริง เว้นแต่เป็นการจ้างแบบเหมาวัน จะได้รับค่าเหนื่อยตามที่ตกลงกันแต่แรกแบบตายตัว ซึ่งจะต้องจ่ายราคาสูงกว่าการประกันมือปกติ

ตัวอย่าง ร้านนวด A ค่ามือชั่วโมงละ 120 บาท ประกันมือวันละ 400 บาท

1.กรณีพนักงานได้งาน 3 ชั่วโมง ปกติจะมีรายได้ 360 บาท แต่จะได้รับรายได้ 400 บาท ตามประกันที่ตกลงไว้

2.กรณีพนักงานได้งาน 5 ชั่วโมง จะมีรายได้ 600 บาท ซึ่งเกินจากประกันมือ พนักงานก็จะได้รับตามจริงที่ 600 บาท 

ในบางร้านนวดและร้านสปา อาจใช้วิธีการประกันมือเป็นรายเดือน เช่น ประกันรายได้เดือนละ 12,000 บาท แต่ก็จะมีเงื่อนไขการทำงานงานที่ให้เกิดความยุติธรรมกับนายจ้างด้วย เช่น ต้องทำงาน 20 วันขึ้นไป เป็นต้น ปัจจุบันค่าประกันมือ บางสปาหรูย่านสุขุมวิท เสนอค่าประกันมือกันถึงวันละ 1,000 บาทเลยก็มี

รายได้อื่น ๆ

นอกจากเงินเดือน ค่าคอมจากการทำงาน และเซอร์วิสชาร์จแล้ว ยังมีในส่วนอื่นที่เป็นรายได้อีก เช่น

  • รายได้จากการขายของ ของคูปอง บางร้านอาจมีนโยบายให้พนักงานแนะนำสินค้าและบริการเพิ่มเติม ซึ่งมักจะมีค่าคอมมิสชั่นจากยอดขาย ยิ่งถ้าเป็นร้านที่เน้นความสวยความงาม จะมีสินค้าจำหน่ายเยอะมาก
  • เบี้ยขยัน เป็นปกติของสถานประกอบการทั่วไป ที่มักจะมีเบี้ยขยันให้กับพนักงานที่ไม่ขาดลามาสายในเดือนนั้น ๆ โดยมากจะอยู่ที่ 500 – 1,000 บาทต่อเดือน
  • ค่ารีเควส คือการที่ให้รางวัลกับพนักงานที่ถูกจองล่วงหน้า ถือว่าทำให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการอีก มักจะให้เป็นรายครั้ง เช่น ครั้งละ 50 บาท
  • โอที สำหรับโครงสร้างแบบรายเดือน เมื่อทำงานล่วงเวลา หรือ วันหยุด จะได้ค่าแรงสูงกว่าปกติที่ 1.5 ถึง 2 เท่า
  • ค่าเดินทาง หรือ ค่ากะดึก ในเคสที่ต้องกลับหลังเที่ยงคืน ระบบขนส่งมวลชนมักจะสิ้นสุดการให้บริการ ผู้ประกอบการจึงมักให้เป็นค่าเดินทาง หรือ ค่า TAXI เพื่อความสะดวกในการเดินทางกลับในช่วงดึก
  • ค่าอาหาร บางร้านนวด สปา หรือโรงแรม มักจะมีอาหารไว้บริการพนักงาน แต่บางสปาอาจจะให้พนักงานเตรียมอาหารมาทานเอง จึงได้ให้เป็นเงินค่าอาหาร 1 – 2 มื้อต่อวัน ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละแห่ง ซึ่งบางแห่งก็อาจจะไม่มี หรือบางแห่งมีครัวและวัตถุดิบเตรียมไว้ให้
  • โบนัส ขึ้นอยู่กับสถานประกอบการ รายปี หรือ รายครึ่งปี โดยมากมักมีในกลุ่มที่ใช้โครงสร้างแบบเงินเดือน หากผลประกอบการดี ก็จะได้รับการพิจารณา แต่หากผลประกอบการไม่ดี ก็ย่อมไม่มีความสามารถในการจ่ายโบนัส
  • งานเลี้ยงและท่องเที่ยวประจำปี เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในองค์กร ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานประกอบการจะจัดขึ้น โดยมากจะมีการจับและแจกรางวัล ทองคำมักเป็นของรางวัลยอดฮิตในงานเลี้ยงเสมอ
  • ทิป ในสายงานบริการนั้น มักจะมีวัฒนธรรมในการให้ทิป เมื่อเกิดความพึงพอใจในการรับบริการของลูกค้า แต่การที่จะให้ทิป หรือไม่ให้ทิป สิทธิขาดจะอยู่ที่ลูกค้า ตัวพนักงานไม่สามารถเรียกร้องใด ๆ ได้ โดยมารยาท ห้ามมิให้พนักงานแสดงกริยาใด ๆ เพื่อเรียกร้องทิปจากลูกค้า แต่บางสถานประกอบการที่รับกลุ่มทัวร์โดยเฉพาะ อาจจะบวกทิปไว้ในราคานวด หรือ แจ้งให้ลูกค้าเตรียมทิปให้พนักงานแบบตายตัว เช่น รอบละ 100 บาท

สวัสดิการ

นอกจากรายได้ ทั้งในแบบเงินเดือน หรือ แบบส่วนแบ่งแล้ว การดูแลพนักงานเทอราปิสก็เป็นปัจจัยหลัก ที่จะสนับสนุนให้พนักงานเทอราปิสสามารถให้บริการต่อลูกค้าได้เป็นอย่างดี มิหนำซ้ำอาจเป็นปัจจัยหลักในการเลือกที่ทำงานด้วย หากเป็นสปาโรงแรมหรู การให้ความสำคัญของสวัสดิการจะสูงมาก ทั้งอาหาร ซักชุดทำงาน ค่าเดินทางหรือรถรับส่ง ที่พักฟรี ส่วนลด ทำงาน 5 วัน หยุด 2 วัน ทุนเรียน ประกันสังคม ประกันภัย กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งมักจะมีให้เป็นมาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นคง และคุณภาพที่ดีที่สุดให้กับพนักงานเทอราปิส ซึ่งหลายสปา ก็ได้นำมาใช้เช่นกัน อาจจะเท่ากัน มากกว่าหรือน้อยกว่า ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการแต่ละแห่ง ร้านนวดขนาดเล็ก ที่มิได้ขายราคาแพง อาจจะมิได้มีสวัสดิการมากมาย ซึ่งการจัดให้มีสวัสดิการ ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม และกำลังของแต่ละสถานที่ เพราะหากการทำธุรกิจแล้วไม่มีกำไร มีตุ้นทุนที่สูงเกินไป ธุรกิจก็อาจไปไม่รอด ต้องหยุดกิจการนั้นไปโดยปริยาย จึงขึ้นอยู่กับการพัฒนาทักษะและความสามารถของตัวพนักงานเองว่า หากต้องการรายได้และสวัสดิการที่ดี ได้ทำงานในสถานที่ที่ดี ก็ต้องมีทักษะและฝีมือที่คู่ควร เพื่อให้สามารถไปสมัครทำงานยังที่นั้น ๆ ได้

บทสรุป

เมื่อเข้าสู่วงการนวดนั้น การเลือกและวางแผนในการทำงานนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเป้าหมายของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน โดยมากนั้น หากเริ่มทำงานนวดใหม่ ๆ มักจะเริ่มที่ร้านนวดที่มีมาตรฐาน เพื่อเรียนรู้และเก็บชั่วโมงบิน หากความต้องการรายได้ที่สูงขึ้นนั้นเป็นเป้าหมาย การที่จะบรรลุเป้าหมายก็ต้องวางแผนที่จะเปลี่ยนไปยังงานที่ตอบสนองต่อรายได้ เช่น ระดับสปาที่สูงขึ้น งานต่างประเทศ หรือลงเรือเก็บเงิน แต่หากความสามารถและคุณสมบัติของเรายังไม่เพียงพอ ก็อาจจะยังไม่สามารถขยับไปได้ โดยมากทั้งงานสายเรือ และงานต่างประเทศ การขอวีซ่าและเงื่อนไขการสมัครนั้น มักจะมีเงื่อนไขในการขอเสมอ ปกติพนักงานจะต้องมีประสบการณ์ในการทำงานอย่างน้อย 1 ปี หรือมากกว่านั้นในบางสถานที่ หรือบางตำแหน่ง ฉะนั้น การที่จะได้มาซึ่งใบรับรองงานก็คือ การไปให้ลา มาให้ไหว้ ความประพฤติที่เรียบร้อยในสถานที่ทำงาน และการลาออกที่ถูกต้องพร้อมการขอใบรับรองการทำงานเผื่อไว้ เราไม่รู้ว่าอนาคตอาจจะมีแพลนในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศก็เป็นได้ คลิกเพื่อดู รายได้งานนวด & สปาในต่างประเทศ

รายได้ขั้นต่ำของงานนวดในไทย หากทำงานในร้านที่ค่ามือชั่วโมงละ 100 ก็จะมีรายได้จากค่าคอมอย่างเดียวประมาณ 10,000 – 15,000 บาทต่อเดือน จนไปถึงหลายหมื่นบาทหรือเฉียดแสนในสปาหรู ค่าเหนื่อยเฉียดแสนนั้น ยังพอหาได้ในประเทศไทย อยู่ที่ช่องทาง ฝีมือ และการให้บริการของตัวพนักงานเอง บางครั้งการไปทำงานต่างประเทศในหลาย ๆ ประเทศก็มีรายได้ไม่ต่างจากเมืองไทยมากนัก หรือ อาจจะน้อยกว่ารายได้ในประเทศไทยด้วยซ้ำ 

ปัญหาขาดแคลนพนักงานที่มีความสามารถนั้น ยังมีอยู่ทุกยุคทุกสมัย เพราะอายุของพนักงาน ย่อมเดินไปข้างหน้า เพิ่มขึ้นอยู่เสมอ ต้องหารุ่นใหม่มาทดแทน การให้ค่าตอบแทนที่สูงและการมีสวัสดิการที่ดีของสถานประกอบการ ก็เพื่อที่จะดูแลให้พนักงาน อยู่ด้วยกันไปนาน ๆ และดึงดูดพนักงานที่มีฝีมือเข้ามาร่วมงาน 

การหางานนั้นมีหลายเรื่องให้พิจารณา ตั้งแต่สายงานว่า ขาว หรือ เทา รายได้ สถานที่ตั้ง การเดินทาง สวัสดิการ ความสามารถของเราในขณะนั้น(หากมีใจเรียนรู้ ทุกสถานที่พร้อมฝึกอบรมให้) ทุกอย่างนั้นเราควรจะเลือกให้เหมาะสมกับเรา ให้ตอบโจทย์เรามากที่สุด และตำแหน่งอื่น ๆ ในสายอาชีพยังมีอีกมาก สามารถเติบโตในสายงานได้อีก ขอให้ผู้อ่านได้วางแผนการทำงาน ค้นหาบทความที่ผมได้แบ่งปันที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจที่จะเข้ามาทำงานในสายนวด สายสปา และขอให้พบเจอแต่สิ่งที่ดี มีกัลยาณมิตรในทุก ๆ ที่ตลอดไป

อาจารย์ อาทิตย์ รูปงาม
ติดตามได้ที่

By อาจารย์ อาทิตย์ รูปงาม

เป็นคนมองโลกในแง่ดี ร่าเริง ยิ้มง่าย ทำงานในวงการนวด & สปา มากว่า 20 ปี ทั้งในและต่างประเทศ สมัยเรียนมัธยมจนถึงมหาวิทยาลัย เป็นนักกิจกรรม วิทยากร ทำค่ายอาสา ค่ายพัฒนาเยาวชนมานับร้อย ชอบชิมอาหาร และท่องเที่ยวเดินทาง เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ คิดค้น ริเริ่มสิ่งใหม่ ชอบแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ จากการเดินทางและการทำงาน