Categories
นวดไทย & สปา

ออนเซ็น Onsen ธุรกิจมาแรงในอนาคต

ออนเซ็น Onsen คือคำในภาษาญี่ปุ่น ที่หมายถึง บ่อน้ำพุร้อน ที่มาจากธรรมชาติที่อุดมด้วยแร่ธาตุนานาชนิด โดยอุณหภูมิและองค์ประกอบของแร่ธาตุแตกต่างกันไปในแต่ละแหล่ง อุณหภูมิตั้งแต่ 25 องศาเซลเซียส จนไปถึงใกล้จุดเดือด โดยจะนิยมนำมาใช้แช่ตัวกันที่อุณหภูมิระหว่าง 38 – 45 องศาเซลเซียส ในแต่ละแหล่งที่มานั้น ให้ผลต่อสุขภาพแตกต่างกัน บางแห่งช่วยบรรเทาโรคผิวหนัง บางแห่งดีสำหรับการล้างดวงตา บางแห่งช่วยเรื่องการบำรุงผิวพรรณ บางแห่งช่วยฟื้นฟูร่างกาย และสรรพคุณอีกมากมาย การมีออนเซนไว้ให้บริการในสปา จึงมีส่วนช่วยดึงดูดผู้ใช้บริการให้เพิ่มมากขึ้น

แหล่งออนเซ็นที่ถูกพัฒนาเป็นเมืองท่องเที่ยว ขอบคุณภาพจาก media timeout

วัฒนธรรมออนเซ็นในญี่ปุ่น

ถือเป็นวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่น ที่แช่ออนเซ็นกันเป็นเรื่องปกติ ตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน จนถึงผู้สูงอายุ ถ้าใครเคยอ่านการ์ตูน หรือ ดูหนังญี่ปุ่น เรามักจะพบฉากการแช่ออนเซ็นในการ์ตูนหรือในภาพยนต์แทบจะเกือบทุกเรื่อง สำหรับคนญี่ปุ่นนั้น วัตถุประสงค์ในการแช่ออนเซ็นจะมีอยู่สองเหตุหลัก ๆ คือ

ด้านสุขภาพ การแช่น้ำร้อนสลับเย็น เป็นรูปแบบการดูแลสุขภาพศาสตร์หนึ่ง กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย ผ่อนคลายความตึงตัวของกล้ามเนื้อ และประโยชน์ที่ได้จากแร่ธาตุของน้ำแร่ จึงไม่แปลกนักที่คนญี่ปุ่นมักมีผิวพรรณดี อายุยืนยาว และดูเด็กอยู่เสมอ

ออนเซ็นหาได้ทั่วไปแทบทุกเมืองในญี่ปุ่น ขอบคุณภาพจาก cloudfront

ด้านสังคม วิธีการแช่ออนเซ็นของชาวญี่ปุ่น คือ การเปลือยเปล่า มีผ้าเช็ดตัวผืนเดียว หมายถึง ความเท่าเทียมกันของคนทุกคนในสังคม มิได้มีอภิสิทธิพิเศษใด ๆ ทุกคนเท่าเทียมกันหมดเวลามาแช่ออนเซ็น จึงเป็นเหมือนเป็นการฝึกเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นในสังคมที่สอดแทรกเข้ามา การจัดเก็บและทำให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้งานต่อไปในโซนอาบน้ำที่ทำเองของลูกค้า การไม่รบกวนผู้อื่นขณะแช่ อีกทั้งยังเป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน หรือคนในครอบครัว เมื่อมาแช่ออนเซ็นร่วมกันอีกด้วย

ความแตกต่างของ ออนเซ็น และ ซาวน่า

เราอาจจะคุ้นชินกับ ซาวน่า และรู้สึกใหม่กับ ออนเซ็น แต่ความเป็นจริงแล้ว ทั้งสองสิ่งมีความเหมือนและความแตกต่างกันพอสมควร โดยปกติแล้ว ออนเซ็น จะแบ่งเป็นสองประเภท คือ

  1. ออนเซ็นเปิดตามแหล่งกำเนิด
  2. ออนเซ็นที่เปิดในแหล่งชุมชุน ห่างจากแหล่งกำเนิด (เรียกอีกชื่อว่า ซุปเปอร์ออนเซ็น Super Onsen)

ซึ่งในบทความนี้ ขออนุญาตเปรียบเทียบความเหมือนและความต่างระหว่าง ซาวน่า และออนเซ็นในส่วนที่สอง หรือ Super Onsen เพราะอยู่ในแหล่งชุมชนเช่นเดียวกัน

ออนเซ็นแบบดังเดิมที่เมือง Dogo ขอบคุณภาพจาก wikimedia

ตารางแสดงสิ่งอำนวยความสะดวกในออนเซ็นและซาวน่า

ลำดับที่ สิ่งอำนวยควมสะดวก ออนเซ็น ซาวน่า หมายเหตุ
1 บ่อน้ำเย็น (15 – 18 องศาเซลเซียส) มี มี
2 บ่อน้ำอุ่น (38 – 40 องศาเซลเซียส) มี มี
3 บ่อน้ำร้อน (40 – 45 องศาเซลเซียส) มี มี
4 บ่อบับเบิล (ฟองอากาศใหญ่) มี มี
5 บ่อไมโครบับเบิล (ฟองอากาศระดับไมโคร) มี* ไม่มี *มีบางออนเซน
6 ห้องสตรีม (ร้อนเปียก) มี มี
7 ห้องซาวน่า (ร้อนแห้ง) มี มี
8 บ่อน้ำแร่ (น้ำแร่แท้ หรือ ผงละลายน้ำ) มี ไม่มี
9 บ่อโซดา (เครื่องผลิตเลียนแบบธรรมชาติ) มี* ไม่มี *มีบางออนเซน
10 บ่อเจ็ตนวดตัว มี มี
11 บ่อสมุนไพร มี* ไม่มี *มีบางออนเซน
12 บ่อไม้สนฮิโนกิ มี* ไม่มี *มีบางออนเซน

 

จากตารางจะเห็นได้ว่า ความแตกต่างหลักจะเป็นในส่วนของความหลากหลายของประเภทบ่อ แต่ทั้งนี้ในสปาที่มีออนเซ็น ก็อาจจะมีความหลากหลายของบ่อแช่ที่กล่าวมา หรืออาจจะมากกว่า น้อยกว่า ขึ้นอยู่กับสถานที่และนโยบายการลงทุน

ทางเข้าแยกส่วนชาย-หญิง ที่แบ่งไว้ชัดเจน ขอบคุณภาพจาก oranews24

นอกจากเรื่องของบ่อแล้ว ความแตกต่างของการใช้บริการยังมีหลายจุดที่ไม่เหมือนกัน เช่น หากเป็นออนเซ็น มักจะให้เปลือยเปล่าในการใช้บริการ แต่ซาวน่ามักจะมีกางเกง หรือ ชุดแช่ไว้ให้บริการ(บังคับใส่) ซึ่งออนเซ็นในประเทศไทยอาจจะแตกต่างจากต้นตำรับ ออนเซ็นในไทยส่วนใหญ่มักจะเตรียมชุดแช่ไว้บริการ หากลูกค้าร้องขอ เพื่อป้องกันการเขินอาย

ธรรมเนียมการใช้บริการที่แตกต่างของออนเซ็นและซาวน่า ออนเซ็นมักจะนั่งอาบน้ำ แต่ในส่วนของซาวน่ามิได้จำกัด มีทั้งยืนและนั่ง ความสงบเรียบร้อยในระหว่างแช่ออนเซ็น ถือเป็นมารยาทหลักที่สำคัญ ในกรณีของซาวน่าอาจมีพูดคุยเสียงดังบ้าง ดังนั้นการเลือกใช้บริการให้เหมาะกับสไตล์ของแต่ละคน คุณเท่านั้นที่จะเป็นคนเลือกเอง

ประเภทต่าง ๆ ของออนเซ็น

ประเภทหลัก ๆ ของออนเซ็น มีดังนี้

  1. ออนเซ็นในแหล่งกำเนิด
  2. ออนเซ็นในแหล่งกำเนิดและมีที่พัก
  3. ออนเซ็นในเมือง

 

ประเภทแรก ออนเซ็นในแหล่งกำเนิด

ออนเซ็นจำนวนมากถูกดึงขี้นมาจากใต้พิภพ ขอบคุณภาพจาก wikimedia

ออนเซ็นนั้นเกิดจากแหล่งน้ำใต้ดินที่ได้รับความร้อนจากลาวาหรือความร้อนใต้ดิน ประกอบกับแร่ธาตุจำนวนมากผสมอยู่ในน้ำ เกิดแรงดันจนพุ่ง หรือไหลออกมาสู้พื้นผิวโดยธรรมชาติ หรือจากการขุดเจาะสายน้ำแร่ใต้ดินขึ้นมาใช้ประโยชน์ ในความเป็นจริง น้ำแร่แต่ละแหล่งมีอุณภูมิและแร่ธาตุที่แตกต่างกัน บางแห่งอุณหภูมิสูงมากจนไม่สามารถแช่ได้ ต้องทำการพักน้ำหรือผสมน้ำให้อยู่ในอุณหภูมิที่สามารถแช่ได้ บางแห่งความหนาแน่นของแร่ธาตุสูงเกินไป จนมีกลิ่นรุนแรงไม่สามารถแช่ได้ ในขณะเดียวกันก็มีน้ำแร่เย็นอีกด้วย ดังนั้น จึงต้องใช้เทคนิคต่าง ๆ นำมาประยุกต์ในการนำน้ำแร่ชนิดต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์

ภาพแสดงกระบวนการการเกิดออนเซ็น ขอบคุณภาพจาก cdn britannica

ในประเทศไทยนั้น แหล่งออนเซ็นส่วนใหญ่ มักจะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ และกระจายอยู่ตามท้องถิ่น โดยอุทยานหรือท้องถิ่น จะเปิดให้เข้าใช้บริการ บางแห่งมีค่าบำรุงสถานที่ โดยผู้แช่จะต้องเตรียมอุปกรณ์หลักมาเอง เช่น ผ้าเช็ดตัว อุปกรณ์การอาบน้ำ โดยจะมีให้บริการทั้งในแบบสาธารณะ(ไม่เปลือย) และแบบห้องส่วนตัว และเปิดให้บริการในช่วงกลางวันเป็นหลัก นักท่องเที่ยวจะต้องเดินทางไปยังแหล่งกำเนิด เพื่อทำการแช่น้ำแร่ดังกล่าว

ประเภทที่สอง ออนเซ็นในแหล่งกำเนิดและมีที่พัก

ในหลายแหล่งกำเนิดของออนเซ็น อยู่ในพื้นที่ของเอกชน การลงทุนสร้างเป็น รีสอร์ท แอนด์ ออนเซ็น จึงเกิดขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะของการให้บริการที่ครบวงจร ประกอบด้วย ที่พัก อาหาร นวดสปา บริการแช่น้ำแร่ และอื่น ๆ  ที่ครบครัน โดยที่ผู้รับบริการไม่จำเป็นต้องออกจากที่พักเลย ก็สามารถสัมผัสกับประสบการณ์ได้อย่างครบครัน เรามักจะพบเจอออนเซ็นประเภทนี้ที่ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันตกของไทย เช่น เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน กระบี่ กาญจนบุรี

ออนเซ็นพร้อมที่พัก ขอบคุณภาพจาก hotelscombined

ประเภทที่สาม ออนเซ็นในเมือง

กล่าวคือ เป็นการยกออนเซ็นจากแหล่งกำเนิดมาให้บริการในแหล่งชุมชน โดยการตกแต่งสถานที่ให้รู้สึกผ่อนคลาย มีการบริการที่ครอบคลุม ทั้งอาหาร นวดสปา หรืออาจจะมีที่พักด้วย ซึ่งจะช่วยให้นักท่องเที่ยว หรือคนเมืองได้ย่นระยะเวลาในการเดินทางไปแช่ออนเซ็น ณ แหล่งกำเนิดได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสามารถเพิ่มความถี่ในการแช่ออนเซ็นเพื่อดูแลสุขภาพได้อีกด้วย หากท่านพักอาศัยอยู่ย่านสุขุมวิท เมื่อคำนวนค่าใช้จ่ายเปรียบเทียบระหว่างการแช่ออนเซ็นในเมือง กับการเดินทางไปแช่ออนเซ็นที่แหล่งกำเนิดได้ดังนี้

ออนเซ็นกลางใจเมือง ใกล้ออฟฟิต ขอบคุณภาพจาก Panpuri Wellness

ตารางเปรียบเทียบแหล่งออนเซ็นที่ใกล้ที่สุด ณ แหล่งน้ำแร่วัดวังขนาย อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ระยะทางวัดจาก แยกอโศก ถึงแหล่งน้ำแร่ ระยะทาง 118 กิโลเมตร

ลำดับที่ หัวข้อ ค่าใช้จ่าย
แหล่งน้ำแร่วังขนาย ออนเซ็นในสุขุมวิท
1 ระยะทาง 118 Km 1 – 5 Km
2 เวลาการเดินทาง ไปกลับ 3.5 – 4.5 ชั่วโมง 10 – 20 นาที
3 ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง (รถส่วนตัว กม.ละ 3 บาท) 708 บาท 30 บาท
4 ทางเลือกในการเดินทาง (กรณีไม่ใช้รถส่วนตัว) น้อย หลากหลาย
5 ค่าบริการของสถานที่ บริจาคตามกำลังศรัทธา 500 – 750 บาท
6 สิ่งอำนวยความสะดวก น้อย ครบครัน
7 บรรยากาศ ลูกทุ่ง อากาศดีปลอดโปร่ง หรูหรา สะอาด อยู่ในอาคาร
8 คุณภาพน้ำแร่ 100% ประมาณ 95 – 99%

 

หากคุณมีเวลาค่อนข้างมากในวันสบาย ๆ การขับรถชมวิว แวะทานอาหารและหาของฝากติดไม้ติดมือ การเดินทางไปแช่ออนเซ็นที่ต่างจังหวัดย่อมเป็นตัวเลือกที่ดี นอกจากอากาศที่ดีแล้ว การได้สัมผัสกับน้ำแร่ที่แหล่งกำเนิดย่อมจะให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดอยู่แล้ว อีกทั้งยังได้เปลี่ยนบรรยากาศ และได้อุดหนุนชาวบ้านในเรื่องของอาหารและของฝาก

แช่ออนเซ็นท่ามกลางธรรมชาติในวันหยุด ขอบคุณภาพจาก tattoo-friendly.jp

แต่หากคุณไม่ได้มีเวลาที่จะเดินทาง เพียงแต่ต้องการแช่ออนเซ็นหลังเลิกงาน หาอะไรอร่อย ๆ ทานแล้วกลับห้องไปนอน ออนเซ็นในเมือง ย่อมจะเป็นคำตอบที่เหมาะสำหรับคุณ แม้คุณภาพของน้ำแร่จะด้อยกว่าแหล่งกำเนิดอยู่บ้าง เนื่องจากกระบวนการการขนส่ง แต่ก็ถูกทดแทนด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครันและเวลาการเดินทางที่น้อยมาก ดังคำพูดที่ว่า ออนเซ็นก็แค่ปากซอย

 

Public Onsen VS Private Onsen

ว่าด้วย ออนเซ็นสาธารณะ กับ ออนเซ็นแบบส่วนตัว การให้บริการออนเซ็นในเมืองนั้น มีการให้บริการอยู่สองประเภท ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสถานที่ งบการลงทุน แนวคิดการให้บริการของผู้ประกอบการ บางแห่งอาจมีการให้บริการครบทั้งสองแบบ ผมขออนุญาตอธิบายโดยสังเขปดังนี้

Public Onsen ออนเซ็นสาธารณะ

หรือ ออนเซ็นรวม คือ การให้บริการแช่ออนเซ็นที่เป็นห้องรวม โดยผู้ใช้บริการจะมีล็อกเกอร์เพื่อเก็บของส่วนตัว ใช้บริเวณอาบน้ำ ลงแช่บ่อออนเซ็นร่วมกับผู้ใช้บริการท่านอื่น ซึ่งจะมีมารยาทในการใช้ออนเซ็นร่วมกัน เช่น การไม่ส่งเสียงดัง มีเจ้าหน้าที่หรือพนักงานค่อยบริการอยู่ภายใน เพื่อป้องกันอันตรายที่ไม่พึงประสงค์ในระหว่างการแช่ออนเซ็นเกือบตลอดเวลา

Onsen จะมีชุด Yukata ไว้บริการเมื่อต้องออกไปนอกบริเวณบ่อ

ขอบคุณภาพจาก ik.imagekit.io

โดยปกติจะแยกพื้นที่การแช่ออนเซ็นเป็น โซนผู้หญิง และ โซนผู้ชาย แยกกันอย่างชัดเจน แต่มีออนเซ็นบางแห่งในญี่ปุ่น มีโซนรวมทุกเพศ ข้อดีของออนเซ็นประเภทนี้คือ จะมีบ่อที่เยอะและหลากหลาย มีพนักงานคอยดูแลความปลอดภัยอยู่ตลอด สามารถมากับเพื่อนเพศเดียวกันได้ และมักไม่จำกัดเวลาในการใช้บริการ ข้อเสียคือ ต้องใช้พื้นที่ร่วมกับคนอื่นที่ไม่รู้จัก และไม่สามารถนำผู้ติดตามต่างเพศเข้ามาใช้บริการในโซนเดียวกันได้

Private Onsen ออนเซ็นแบบส่วนตัว

คือ ออนเซ็นที่แบ่งเป็นสัดส่วนที่จะให้บริการเพียงคนกลุ่มเดียว โดยสามารถแช่ออนเซ็นร่วมกับผู้ติดตามได้ในกรณีต่างเพศกัน เช่น การแช่ออนเซ็นร่วมกันของพ่อแม่ลูก มีความเป็นส่วนตัวสูง แต่อาจจะมีประเภทบ่อให้เลือกไม่เยอะมาก เนื่องจากการลงทุน หรือ เนื้อที่ที่จำกัดในการสร้างบ่อ โดยมากอาจจะมีเพียงบ่อหลักเพียงบ่อเดียว จนไปถึงสามสี่บ่อ เหมาะกับสปาขนาดเล็กที่มีเนื้อที่น้อย และลงทุนไม่สูงมาก ข้อดีที่ชัดเจนที่สุดคือ ความเป็นส่วนตัวและสามารถแช่รวมกับเพศตรงข้ามได้ ข้อเสียจะเป็นในส่วนของความไม่หลากหลายขอองบ่อและเวลาการใช้บริการที่มักจะถูกจำกัดด้วยเวลา เว้นแต่เป็น Private Onsen ที่อยู่ในห้องพัก

ความส่วนตัวสูงสุด กับ Private Onsen ขอบคุณภาพจาก mai-ko jp

ที่มาของน้ำแร่ออนเซ็นในเมือง

เมื่อต้องย้ายออนเซ็นมาไว้ในเมือง ความท้าทายจึงเกิดขึ้น ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้มาใช้บริการได้ประสบการณ์เท่ากัน หรือมากกว่าการเดินทางไปแช่ออนเซ็น ณ แหล่งกำเนิด นอกจากการจัดเต็มในส่วนของสิ่งอำนวยความสะดวกแล้ว ความสะอาดและคุณภาพของน้ำ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญ การทำให้เกิดน้ำแร่ในเมืองนั้น ทำได้หลายวิธี ดังนี้

  1. การขนน้ำแร่มาจากแหล่งกำเนิด เป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะจะได้คุณภาพ 99 – 100% เพราะคุณภาพจะเทียบเท่ากับแหล่งกำเนิด แต่จะมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่สูง และต้องมีระบบเก็บรักษาน้ำแร่ที่ดีเพื่อรักษาคุณภาพให้เหมือนต้นฉบับรถขนน้ำแร่ขนาดใหญ่ ขอบคุณภาพจาก google
  2. การใช้น้ำแร่เข้มข้น ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าของมวลมนุษยชาติ การดึงเอาแร่ธาตุของน้ำแร่จากแหล่งกำเนิดจึงเกิดขึ้น ด้วยการดึงน้ำออก ให้เหลือเฉพาะแร่ธาตุของน้ำแร่ ซึ่งสามารถเก็บรักษาได้อย่างยาวนานในรูปแบบผงน้ำแร่ เมื่อต้องใช้ ก็นำมาละลายกับน้ำตามอัตราส่วนที่กำหนดไว้ บางผู้ประกอบการได้ทำการแต่งสีแต่งกลิ่น เพื่อสร้างเอกลักษณ์ เราสามารถมองหาผงออนเซ็นได้แทบจะทุกห้างสรรพสินค้าในประเทศญี่ปุ่น โดยคุณภาพอยู่ที่ 90 – 99%น้ำแร่แบบผง นำมาผสนน้ำก่อนการใช้งาน ขอบคุณภาพจาก dn.sanity.io
  3. การเลียนแบบธรรมชาติ การศึกษาองค์ประกอบทางเคมีในน้ำแร่ ทำให้เราพยายามเลียนแบบโดยการปรุงแต่งแร่ธาตุในน้ำ ให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติ และเกิดความเสถียรของส่วนประกอบ น้ำแร่ในธรรมชาติมีเสน่ห์อย่างหนึ่งคือ ในการไหลหรือพุ่งมาสู่ผิวโลก อุณหภูมิและแร่ธาตุจะไม่เท่ากันในแต่ละวัน เราจึงใช้สารละลายเลียนแบบ หรือ เครื่องจักรในการสร้างก๊าซและอุณหภูมิเพื่อเลียนแบบให้เหมือน หรือให้ดีกว่า หรือแปลกใหม่กว่าเดิม เช่น เครื่องทำไมโครบับเบิล ที่อัดอากาศจนโมเลกุลของกาศเล็กมาก เมื่อมาผสมกับน้ำทำให้น้ำเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำนม หรือ เครื่องทำบ่อโซดา เลียนแบบออนเซ็นโซดาที่หายากมาก ๆ ในธรรมชาติ โดยเครื่องจะทำให้บ่อน้ำมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่เหมาะสม เลียนแบบของหายากในธรรมชาติ แต่ก็แลกกับการลงทุนที่สูงการค้นพบแหล่งน้ำแร่โซดาหายาก ที่ จ.กาญจนบุรี ขอบคุณภาพจาก mgronline

ทำไมการมีออนเซนกับนวดสปา จึงดึงดูดลูกค้ามากกว่า

หลักการนี้เข้าใจได้ง่ายมาก หนึ่งในประโยชน์ของการแช่ออนเซ็น คือ การคลายความตึงตัวของกล้ามเนื้อ การออกแบบการให้บริการที่ให้ลูกค้าได้แช่ออนเซ็นก่อนมานวด หรือแช่ทั้งก่อนและหลัง นอกจากลูกค้าจะได้ทำความสะอาดร่างกายและผ่อนคลายกล้ามเนื้อมาระดับหนึ่งแล้ว การผ่อนคลายทางจิตใจก็ได้เกิดขึ้นในระหว่างแช่ เมื่อตามมาด้วยการนวด ก็จะช่วยเสริมให้พนักงานนวดหรือเทอราปิส ทำงานได้ง่ายขึ้น จากที่ต้องใช้ความพยายามในการลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ 100% ก็อาจจะเหลือที่ 60 – 80% และการได้แอบงีบระหว่างนวด หรือหลังจากนวด ก็ยิ่งเป็นการเติมพลังอย่างเต็มที่ การได้งีบหลับที่ยาวนาน ไม่มีคุณภาพเท่ากับการได้หลับลึกในระยะเวลาสั้น ๆ โดยทั่วไปหลังการแช่ออนเซ็นนั้น ผู้แช่มักจะง่วงเป็นปกติ ไม่ควรขับรถไกลโดยไม่ได้ Nap ก่อน ควรงีบสัก 30 – 60 นาที แล้วร่างกายจะตื่นมาสดชื่นในแบบที่พร้อมรับกับทุกสถานการณ์

การลงทุนที่คุ้มค่า

ในอนาคต แนวโน้มที่ลูกค้าจะเลือกใช้สปาที่มีอ่างแช่ตัว หรือออนเซ็นนั้นมีสูงมาก การแข่งขันที่สูงสำหรับสปาในเมืองนอกจากเรื่องที่ตั้งและราคา การบริการและเมนูที่ให้บริการที่ตอบโจทย์ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ ในธรรมชาติของการทำออนเซ็นนั้น การกระจายตัวเป็นแห่ง ๆ เพื่อรองรับการใช้บริการของลูกค้าที่ครอบคลุม ใกล้ที่ไหน ไปใช้ที่นั้น ก็ย่อมที่จะเป็นการดีต่อลูกค้าในการเดินทาง เพียงแต่ต้องรักษามาตรฐานในการให้บริการที่ดี หากท่านเป็นผู้ประกอบการ การพิจารณาในการนำออนเซ็นมาอยู่ในเมนูนั้น ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย ควรหาที่ปรึกษาในการทำออนเซ็นที่มีประสบการณ์ เพื่อป้องกันงบที่บานปลาย หรือลดการลองผิดลองถูกเอง หากท่านเป็นพนักงานนวดหรือเทอราปิส การไปร่วมงานกับสปาที่มีออนเซ็นจะช่วยให้ท่านมีความมั่นคงเรื่องปริมาณลูกค้า เพราะลูกค้าเกินครึ่งจะใช้บริการนวดร่วมด้วย และลูกค้าส่วนใหญ่มักจะเป็นลูกค้าประจำ ในบทความถัดไป จะมาเล่าประโยชน์ที่แท้จริงและครบถ้วนในการแช่ออนเซ็นและการใช้น้ำเพื่อสุขภาพ ในบทความนี้เป็นแค่เพียงน้ำจิ้มเท่านั้น

 

 

 

 

 

 

 

อาจารย์ อาทิตย์ รูปงาม
ติดตามได้ที่

By อาจารย์ อาทิตย์ รูปงาม

เป็นคนมองโลกในแง่ดี ร่าเริง ยิ้มง่าย ทำงานในวงการนวด & สปา มากว่า 20 ปี ทั้งในและต่างประเทศ สมัยเรียนมัธยมจนถึงมหาวิทยาลัย เป็นนักกิจกรรม วิทยากร ทำค่ายอาสา ค่ายพัฒนาเยาวชนมานับร้อย ชอบชิมอาหาร และท่องเที่ยวเดินทาง เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ คิดค้น ริเริ่มสิ่งใหม่ ชอบแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ จากการเดินทางและการทำงาน